คุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ระดับดี

   เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2563 เวลา 13.00 น. คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล   หวังสถิตวงษ์ ประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชัย รามวรังกูร      รองศาสตราจารย์จันทนี เพชรานนท์ และอาจารย์ไฉไลฤดี   ยุวนะศิริ นำเสนอข้อมูลผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 มีพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร.อธิการบดี และผู้บริหาร เข้าร่วมฟังผลการประเมิน ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานอธิการบดี ต.ลำไทร อ.วังน้อย    จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ในระดับ “ดี

การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2562 คณะกรรมการตรวจประเมินได้ดำเนินการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม พ.ศ.2563  ตามกระบวนการในระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยใช้ตัวบ่งชี้และเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) 13 ตัวบ่งชี้ และตัวบ่งชี้เพิ่มเติมของมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.2561 จำนวน 6 ตัวบ่งชี้  ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต องค์ประกอบที่ 2 การวิจัย องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และ องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 19 ตัวบ่งชี้

      มีส่วนงานใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx “Education Criteria for Performance Excellence” จำนวน 2 ส่วนงาน คือวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและวิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ

      ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล   หวังสถิตวงษ์ ประธานกรรมการ กล่าวถึงจุดเด่นของมหาวิทยาลัยว่า  หลักสูตรบัณฑิตศึกษามีเอกลักษณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาและมีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก  มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้พระไตรปิฎกเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ  และมีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนจำนวนมากซึ่งเอื้อต่อการสนับสนุนการจัดกิจกรรมและงบประมาณของมหาวิทยาลัย

พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางเสริมจุดเด่นไว้ว่า มหาวิทยาลัยควรทบทวนกระบวนการประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้กว้างขวางและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ควรแสวงหาวิธีการสื่อสารและให้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และควรพัฒนาเครือข่ายให้เป็นคู่ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *